ไข่ 6 ประเภท นักโภชนาการเตือน “อย่ากิน” เสี่ยงอันตราย ชอบแค่ไหนก็ต้องเลี่ยง

นักโภชนาการเตือน ไข่ 6 ประเภท “อย่ากิน” นอกจากไม่ได้ประโยชน์ ยังมีโทษถึงอวัยวะภายใน ชอบแค่ไหนก็ต้องเลี่ยง

ไข่เป็นอาหารที่คุ้นเคย อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ราคาไม่แพง และสามารถปรุงได้หลากหลายวิธี อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ไข่ทุกชนิดหรือทุกวิธีการปรุงไข่จะดีต่อสุขภาพเสมอไป

นอกจากการกินไข่มากเกินไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ หวัง ปิน จากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ยังเตือนว่า มีไข่อยู่ 6 ประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงหรือกินให้น้อยที่สุด เพราะอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกาย ได้แก่

1. ไข่ที่ฟักไม่สมบูรณ์ (ไข่เน่า)

หลายคนเชื่อว่าไข่ฟักบางส่วนดีต่อสมรรถภาพทางเพศ แต่หมอหวังระบุว่านี่คือความเชื่อที่ผิดและขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ เพราะไข่ที่กระบวนการพัฒนาถูกหยุดกลางคันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ ทำให้เน่าเสีย ติดเชื้อ และอาจสร้างสารพิษ เปลือกไข่ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้อีกต่อไป ทำให้เชื้อจากภายนอกแทรกซึมเข้าไปได้ง่าย การกินไข่แบบนี้อาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ท้องอืด ท้องเสีย และระยะยาวส่งผลเสียต่อกระเพาะอาหาร ตับ และไต

2. ไข่ดิบหรือไข่กึ่งสุกกึ่งดิบ

หลายคนชอบกินไข่ดิบหรือไข่ลวกเพราะเชื่อว่า “ยังคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ครบ” แต่ในความเป็นจริง ร่างกายดูดซึมสารอาหารจากไข่ดิบได้เพียง 81% ขณะที่ไข่ต้มสุกสามารถดูดซึมได้ถึง 98% ที่สำคัญ ไข่ดิบอาจมีเชื้อ ซัลโมเนลลา และไวรัสไข้หวัดนก ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ระบบย่อยอาหารผิดปกติ หรืออาหารเป็นพิษ หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรเลือกไข่ที่สะอาด มีแหล่งที่มาชัดเจน และปรุงอย่างถูกสุขลักษณะ

3. ไข่ที่เปลือกแตก

ไม่ควรนำไข่เปลือกแตกมาบริโภค เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูงมาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) เคยเตือนว่า เปลือกไข่อาจมีเชื้อซัลโมเนลลา และหากเปลือกแตก เชื้อจะเข้าไปในไข่ได้ง่าย หมอหวังแนะนำว่าให้ทิ้งไข่ที่เปลือกแตกทันที ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อ

4. ไข่ที่มีจุดดำหรือสีน้ำตาล

ไข่ที่มีจุดดำหรือน้ำตาลจำนวนมาก อาจเป็นสัญญาณว่าพ่อแม่พันธุ์ไก่ขาดวิตามินหรือกรดอะมิโนเมไทโอนีน หรืออาจเป็นไข่ที่เก็บไว้นานจนเสื่อมคุณภาพ จุดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างของไข่ไม่สมบูรณ์ หมอหวังเตือนว่าไม่ควรกินไข่ลักษณะนี้บ่อย เพราะอาจทำร้ายตับ ไต และลำไส้

5. ไข่ที่ปรุงสุกแล้วแต่อยู่ข้ามคืน

ไข่สุกที่ทิ้งไว้นาน โดยเฉพาะหากไม่ได้เก็บอย่างถูกต้อง แม้ในตู้เย็น ก็มีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อนเชื้อ เช่น E.coli และ Salmonella หมอหวังอธิบายว่า ไข่ที่มีโปรตีนสูง หากเก็บไว้นานจะเสื่อมคุณภาพและเกิดสารพิษ ส่งผลให้ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาจกระทบต่อตับ ไต และตับอ่อน แนะนำให้กินไข้สุกภายใน 2 ชั่วโมง หลังปรุง หรือภายใน 1 ชั่วโมง หากอุณหภูมิเกิน 32°C แม้เก็บในตู้เย็นก็ไม่ควรเก็บข้ามคืน

6. ไข่ที่ล้างน้ำแล้วแช่ตู้เย็น

การล้างไข่ก่อนเก็บแช่เย็น แม้ดูเหมือนสะอาด แต่จริงๆ แล้วเป็นการทำลาย “เยื่อป้องกันธรรมชาติ” บนเปลือกไข่ ซึ่งช่วยป้องกันเชื้อโรค หากนำไข่ที่เปียกไปเก็บในตู้เย็น จะยิ่งเสี่ยงติดเชื้อ หรือทำให้เชื้อแพร่ไปยังอาหารอื่น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) แนะนำว่า หากตั้งใจจะแช่ไข่ในตู้เย็น ไม่ควรล้างไข่ก่อน หากเปลือกสกปรก ให้ใช้ผ้าแห้งเช็ดเบาๆ แล้วห่อให้มิดชิด เช่น ใช้พลาสติกแรปหรือเก็บในกล่องที่ปิดสนิท จะปลอดภัยกว่า