ย่านาง เป็นพืชพวกไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tiliacora triandra (Colebr.) Diels. อยู่ในวงศ์ Menispermaceae มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น ภาคเหนือเรียกว่าจอยนาง ผักจอยนาง ภาคกลางเรียกว่าย่านาง หญ้าภคินี เถาวัลย์เขียว ภาคคะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า หญ้านาง หรือหมื่นปีบ่เฒ่าซึ่งมีความหมายว่าผู้ที่บริโภคย่านางเป็นประจำจะชลอความแก่เฒ่า ส่วนภาคใต้เรียกย่านางว่า ย่านนาง ยานนาง ขันยอ หรือหยาดนาง
ย่านางเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนไม่ว่าจะเป็น ราก เถา แต่ส่วนที่ใช้ประโยชน์มากที่สุด คือ ใบ มีข้อมูลจากหนังสือ Thai Food Composition Institute of Nutrition ของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิยาลัยมหิดลว่า ใบย่านางหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 95 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 15.5 เปอร์เซนต์, ฟอสฟอรัส 0.24 เปอร์เซนต์, โพแทสเซียม 1.29 เปอร์เซนต์, แคลเซียม 1.42 เปอร์เซนต์ และ แทนนิน 0.21 เปอร์เซ็นต์ เส้นใย 7.9 กรัม, แคลเซียม 155 มิลลิกรัม,ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม, เหล็ก 70 มิลลิกรัม,วิตามินเอ 306.25 ไอยู, วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม, วิตามินบีสอง 0.36 มิลลิกรัม, วิตามินซี 141 มิลลิกรัม และไนอะซิน 1.4 มิลลิกรัม ย่านางสามารถทำเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น นำน้ำคั้นจากใบใส่ในแกงหน่อไม้ แกงขี้เหล็ก ซุบหน่อไม้ ทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้นและยังช่วยทำให้ผู้บริโภคไม่ปวดข้อหรือปวดเข่าจากกรดยูริคที่มีในหน่อไม้ ยอดและใบอ่อนใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก
ย่านาง มีคลอโรฟิลล์ที่มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับเม็ดเลือดแดงของมนุษย์ดังนั้นจึงทำให้ระบบการไหลเวียนผลัดเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้นทำให้ช่วยขจัดสารพิษออกจากระบบเลือด ตับ และไต ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายแข็งแรงขึ้นจึงนิยมนำใบย่านางมาทำเครื่องดื่มใช้ล้างสารพิษ
เอกสารอ้างอิง
นิตยา บุญทิม, พรรณเพ็ญ เครือไทย, ชินกฤต สุวรรณคีรี และถกลวรรณ ศิริสวัสดิ์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การเพิ่มศักยภาพและสรรพคุณของพืชผักสมุนไพรในตำรับยาล้านนา: การศึกษาฤทธิ์การยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคและปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการให้ผลผลิต. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2556.
ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม. กองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. 277 หน้า.
ย่านาง คลังยารักษาสรรพโรค. บริษัทสุภัชนิญค์ พริ้นติ้ง จำกัด. กรุงเทพ. 63 หน้า.