กูรูต่างชาติเตือน 6 อาหารที่ไม่ควรกินพร้อม “กาแฟ” คนไทยแปลว่าอิสระ ทำแทบทุกข้อ!

“กาแฟ” เครื่องดื่มยอดนิยมที่ช่วยปลุกพลังในยามเช้า แต่ทราบหรือไม่ว่า อาหารบางชนิดที่รับประทานคู่กับกาแฟ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว?

ข้อมูลจากเว็บไซต์สุขภาพชื่อดัง health.com ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Chelsea Rae Bourgeois นักเขียนและนักโภชนาการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Simone Harounian นักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลและการศึกษาโรคเบาหวาน ระบุว่า

กาแฟช่วยเพิ่มพลังงานชั่วคราวและมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ทำให้เป็นส่วนเสริมที่ทรงพลังในอาหารที่สมดุล ตัวอย่างเช่น งานวิจัยยืนยันว่าการบริโภคกาแฟในปริมาณพอเหมาะสามารถช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและความเครียดจากอนุมูลอิสระ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมะเร็งหลายชนิด อย่างไรก็ตาม กาแฟก็อาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ผลของอาหารบางประเภทลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้

แม้ว่าคนแต่ละคนจะแตกต่างกันและอาจทนทานต่อการจับคู่กับอาหารที่แตกต่างกันได้ แต่คุณอาจต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทร่วมกับกาแฟประจำวัน ดังนี้

1. ผลไม้รสเปรี้ยว (Citrus Fruits)

การดื่มกาแฟร่วมกับผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว หรือเกรปฟรุต อาจทำให้เกิดความไม่สบายในระบบย่อยอาหาร เนื่องจากกาแฟมีความเป็นกรดตามธรรมชาติ โดยมีค่าความเป็นกรด (pH) อยู่ระหว่าง 4.85 ถึง 5.13

ในขณะเดียวกัน ผลไม้รสเปรี้ยวและน้ำผลไม้เหล่านี้ก็มีความเป็นกรดสูง ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อน (GERD) ซึ่งมีอาการทั่วไปคือ คลื่นไส้ ท้องอืด และแสบร้อนกลางอก การบริโภคกาแฟร่วมกับผลไม้เหล่านี้อาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคืองและเพิ่มความรุนแรงของอาการ

รสเปรี้ยวจัดของผลไม้ยังอาจทำให้รสชาติกาแฟขมมากขึ้นและดื่มได้ไม่อร่อย ทางที่ดีควรบริโภคผลไม้รสเปรี้ยวแยกต่างหากเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่ก่อปัญหาในระบบย่อยอาหาร

2. เนื้อแดง (Red Meat)

กาแฟสามารถส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในลำไส้ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งเนื้อแดงถือเป็นแหล่งสำคัญของสารประกอบฮีม (Heme Iron) โดยธาตุเหล็กในรูปฮีมร่างกายสามารถดูดซึมได้โดยตรง

การดื่มกาแฟร่วมกับเนื้อแดงจึงอาจลดประโยชน์ทางโภชนาการของอาหารมื้อนั้น

งานวิจัยหนึ่งพบว่าการดื่มกาแฟ 3 ถ้วยขึ้นไปต่อวันทำให้ระดับเฟอริทิน (ตัวชี้วัดระดับเหล็กในร่างกาย) ลดลง และการดูดซึมธาตุเหล็กหลังมื้ออาหารลดลงถึง 39%

ธาตุเหล็กมีบทบาทสำคัญในระบบไหลเวียนเลือด การผลิตฮอร์โมน และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงควรเลือกแหล่งโปรตีนอื่นร่วมกับกาแฟตอนเช้า และเก็บเนื้อแดงไว้ทานช่วงที่ร่างกายดูดซึมเหล็กได้ดี

3. นม (Milk)

นมเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดี ซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพกระดูก การทำงานของกล้ามเนื้อ การแข็งตัวของเลือด และการผลิตฮอร์โมน โดยนมพร่องมันเนย 1 แก้วให้แคลเซียมถึง 23% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

แต่คาเฟอีนในกาแฟอาจรบกวนการดูดซึมแคลเซียม ทำให้ร่างกายดูดซึมได้น้อยลง และแคลเซียมที่ไม่ได้ถูกดูดซึมจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงนิ่วในไตและปัญหากระดูก

ผู้ที่ชอบดื่มกาแฟใส่นม อาจต้องเสริมแคลเซียมจากอาหารอื่นในช่วงเวลาที่ต่างกัน

4. อาหารทอด (Fried Foods)

การดื่มกาแฟมากขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) โดยเฉพาะการเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิด LDL (ไขมันเลว) และลด HDL (ไขมันดี) ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพหัวใจ

ในขณะเดียวกัน การกินอาหารทอดบ่อยๆ ก็เชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคหัวใจเช่นกัน ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำจึงควรลดการบริโภคของทอดเพื่อดูแลสุขภาพหัวใจ

งานวิจัยแนะนำว่า การกินของทอดมากกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรัง

5. ซีเรียลอาหารเช้าเสริมวิตามิน (Fortified Breakfast Cereals)

ซีเรียลอาหารเช้ามักเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น สังกะสี ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่พบได้ในซีเรียลหลายชนิด

แต่กาแฟอาจลดความสามารถในการดูดซึมของสังกะสีได้ แม้ยังไม่มีงานวิจัยระบุเวลาที่เหมาะสมระหว่างการกินซีเรียลกับดื่มกาแฟ แต่ควรบริโภคแยกเวลากันจะดีที่สุด

6. อาหารที่มีโซเดียมสูง (High-Sodium Foods)

กาแฟมีสารที่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิต แม้การดื่มกาแฟวันละ 1-3 แก้วมักไม่เป็นอันตราย แต่การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปอาจกระตุ้นภาวะความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ โซเดียมในอาหารยังเชื่อมโยงกับความดันโลหิตโดยตรงเช่นกัน การดื่มกาแฟร่วมกับอาหารเค็มจึงควรทำอย่างระมัดระวัง

สมาคมหัวใจแห่งอเมริกาแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน

อาหารที่สามารถทานร่วมกับกาแฟได้

มีอาหารบางอย่างที่เข้ากันดีกับกาแฟและยังดีต่อสุขภาพ เช่น

  • ขนมปัง: งานวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟตอนเช้าร่วมกับขนมปังช่วยลดไขมันในช่องท้องได้มากถึง 45.1%

  • ข้าวโอ๊ต: มีไฟเบอร์สูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้พลังงานต่อเนื่อง

  • ผลไม้เบอร์รีสด: อุดมด้วยวิตามินและรสหวานธรรมชาติ เข้ากับรสขมของกาแฟ

  • อัลมอนด์: ให้ไขมันดีและความกรุบกรอบ ช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการดื่มกาแฟ

เคล็ดลับการดื่มกาแฟอย่างเหมาะสม

  • ดื่มกาแฟช่วงเช้าหรือบ่ายต้นๆ เพื่อไม่ให้รบกวนการนอน

  • ควรเว้นช่วงประมาณ 3-4.5 ชั่วโมงก่อนหรือหลังมื้ออาหาร เพื่อไม่ให้กาแฟรบกวนการดูดซึมสารอาหาร

  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟพร้อมมื้อที่มีแคลเซียม เหล็ก หรือสังกะสี

  • ผู้ที่ใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเว้นช่วงเวลาดื่มกาแฟ

  • อย่าดื่มคาเฟอีนเกิน 400 มก./วัน (ประมาณ 4-5 ถ้วยกาแฟ)

กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่ช่วยเพิ่มพลังและความกระปรี้กระเปร่า แต่หากดื่มผิดเวลา หรือดื่มพร้อมอาหารบางชนิด อาจลดการดูดซึมสารอาหาร หรือทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้

การดื่มกาแฟอย่างรู้เท่าทันและจัดตารางเวลาให้เหมาะสม จะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากกาแฟโดยไม่กระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะหากปรึกษากับนักโภชนาการเพื่อออกแบบแผนอาหารให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะตัว