สื่อจีนสะพัดนักวิทยาศาสตร์จีนในเมืองอู่ฮั่น พบเจอไวรัสโคโรน่าตัวใหม่ในค้างคาว ติดจากสัตว์สู่คนได้เหมือนโรคโควิด-19

22 ก.พ. 2568 เวลา 06:45 น.

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.68 เพจ BTimes ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

จีนอีกเหรอ! นักวิทยาศาสตร์จีนในอู่ฮั่นพบเชื้อไวรัสตัวใหม่ในค้างคาว ติดจากสัตว์สู่คนได้เหมือนโรคโควิด-19 ตั้งชื่อเบื้องต้นไวรัส HKU5 เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ซึ่งเป็นสำนักข่าวชื่อดังระดับประเทศแห่งหนึ่งในจีน รายงานข่าวในการอ้างอิงทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านสาขาไวรัสวิทยา สถาบันไวรัสอู่ฮั่น ประเทศจีน ได้แก่ นายสือ เจิ้งลี่ ซึ่งมีฉายารู้จักกันในชื่อ Batwoman ว่า ได้ค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ที่มาจากในตัวค้างคาว

สำหรับเชื้อชนิดใหม่นี้สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้เช่นเดียวกันกับเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ที่เคยเกิดขึ้นเป็นวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2019 ทีมนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ได้ตั้งชื่อเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ว่า HKU5 โดยเป็นเชื้อไวรัสจากสายพันธุ์ย่อยในกลุ่มเมอร์บีคอฟไวรัส (merbecovirus) และกลุ่มเชื้อไวรัสทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Mers) เชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ได้ทำการตรวจพบครั้งแรกในค้างคาวสายพันธ์ุมีชื่อว่า Japanese pipistrelle bat ที่พบการอาศัยอยู่ในฮ่องกง

ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้และยืนยันต้นกำเนิดของเชื้อในค้างคาวพันธุ์ดังกล่าวได้ชัดเจน แต่ผลการศึกษาบางส่วนสามารถยืนยันได้ว่าวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสในค้างคาวจะสามารถแพร่ไปสู่คนได้โดยผ่านตัวกลางที่เรียกว่าเชื้อพาหะเริ่มต้นก่อนแพร่ระบาดในร่างกายมนุษย์ นอกจากนี้ สิ่งที่ค้นพบต่อมาจากรายงานดังกล่าว คือ เชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้สามารถจับกับเอมไซม์มีชื่อว่า แองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์ หรือ ACE2 ซึ่งเป็นตัวรับแบบเดียวกันกับที่เชื้อไวรัสโรคทางเดินหายใจซาร์-โควี-2 หรือ Sars-CoV-2 หรือรู้จักกันทั่วโลกว่าไวรัสโคโรน่า-19 ซึ่งสามารถแพร่สู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ได้ด้วย

ทั้งนี้ สถาบันไวรัสอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ต้องตกอยู่ภายใต้คำวิพากย์วิจารณ์ และมีกระแสรายงานข่าวจากประเทศในโลกตะวันตกเป็นครั้งคราวว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 หลุดลอดออกมา และแพร่กระจายไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สถาบันไวรัสอู่ฮั่นรวมไปถึงนายสือ เจิ้งลี่ ได้ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 แต่อย่างใด