เปิด 8 อาชีพมาแรง อนาคตไม่ต้องกลัวตกงาน

20 ม.ค. 2568 เวลา 14:57 น.
ทุกวันนี้ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนน่าตกใจ อาชีพบางอย่างที่หลายคนคิดว่ามั่นคง ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แบบนั้น โดย World Economic Forum ระบุว่า ภายในปี 2020 จะมีคนตกงานมากกว่า 5-7 ล้านคน จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ในอีกด้านก็จะมีบางอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น อย่างรายงานเรื่อง The Future of Jobs ที่สำรวจผู้บริหารกว่า 350 บริษัท ของ 15 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า 8 อาชีพสุดมั่นคง เป็นที่ต้องการสูงของตลาดแรงงานทั่วโลก มีดังนี้

นักวิเคราะห์ข้อมูล

นักวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นอาชีพที่สำคัญมากกับทุกอุตสาหกรรมในอนาคต เมื่อโลกต้องเชื่อมต่อกันด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล หลายบริษัทจึงจำเป็นต้องมีคนที่เข้ามาจัดการข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระบบ เพื่อนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้

นักคอมพิวเตอร์-นักคณิตศาสตร์

อาชีพที่ต้องใช้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์จะยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล

สถาปนิก-วิศวกร

คาดการณ์ว่าในปี 2020 แรงงานในกลุ่มนี้จะยังคงเป็นอาชีพที่มั่นคงและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มวิศวกรเฉพาะทาง อย่างเช่น เคมีชีวภาพ, นาโนเทคโนโลยี, หุ่นยนต์ และวิศวกรรมวัสดุ จะเป็นกลุ่มที่ในวงการอุตสาหกรรมต้องการตัวเป็นอย่างมาก

พนักงานขายที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

แต่ทุกธุรกิจก็ยังต้องการพนักงานขายเฉพาะด้านที่เข้าใจเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง ยิ่งปัจจุบันที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องยาก ๆ ให้กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกค้า ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นสุด ๆ

ผู้จัดการระดับสูง

ธุรกิจคงต้องหยุดชะงัก เดินหน้าต่อไม่ได้แน่ ๆ หากขาดผู้จัดการที่มีประสบการณ์ในการวางแผน วิเคราะห์เทรนด์ในอนาคตอย่างแม่นยำ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และธุรกิจบันเทิง

นักออกแบบผลิตภัณฑ์

เราอาจจะใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนฝ่ายผลิตในโรงงานได้ แต่งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คงอีกนานที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะสามารถทดแทนคนได้จริง ๆ โดยอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็ยังมีอยู่มากมาย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ สินค้าในโรงงาน รวมถึงแก็ดเจ็ตต่าง ๆ

นักพัฒนาองค์กร

แน่นอนว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีจะทำให้หลายอาชีพหายไป และมีอาชีพใหม่ ๆ มาทดแทน หลาย ๆ องค์กรจึงต้องมีนักพัฒนาองค์กร หรือฝ่ายบุคคลที่มีทักษะในการคัดกรองและอบรมพนักงานใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาให้เหมาะสมกับองค์กร ทั้งนี้ มีรายงานว่า กว่า 65% ของบริษัททั่วโลก กำลังลงทุนในเรื่องพัฒนาคน เพิ่มทักษะใหม่ ๆ กันอย่างเข้มข้น

นักกฎหมาย

การที่บริษัทนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ เทคโนโลยีนั้นผิดกฎหมายหรือเปล่า หรือขัดกับหลักเกณฑ์กำกับดูแลด้านไหนหรือไม่ แน่นอนว่านักกฎหมายจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น หากมีบริษัทพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ บริษัทนั้นก็จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานของรัฐได้เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ